ปรากฎการณ์ของการรวมตัวกันของมหาวิทยาลัยหลัก ที่มีการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจ ใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทย จัด “การประชุมวิชาการระดับนานาชาติและระดับชาติด้านบริหารธุรกิจและการบัญชี (INCBAA 2018) ” เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและวิชาการในศาสตร์ทางบริหารธุรกิจและการบัญชีของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา เครือข่ายสถาบันการศึกษาแห่งภูมิภาคด้านบริหารธุรกิจ (Thailand Regional Business Schools Network : TRBS NET) ซึ่งประกอบไปด้วย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัด “การประชุมวิชาการระดับนานาชาติและระดับชาติด้านบริหารธุรกิจและการบัญชี The International and National Conference on Business Administration and Accountancy (INCBAA 2018)” เวทีการนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและวิชาการในศาสตร์ทางบริหารธุรกิจและการบัญชีให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ภายในงานเริ่มต้นด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี กล่าวรายงานต่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมกันนี้การประชุมวิชาการฯครั้งนี้ยังรับเกียรติจาก ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นองค์ปาฐกพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน (Transformative Innovation for Sustainable Business)” โดยบรรยากาศของงาน เนืองแน่นไปด้วยนักวิชาการ นักวิจัย บุคลากร และนักศึกษา จากนานาประเทศเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ณ ห้องออคิด บอลลรูม 2 โรงแรมพูลแมนขอนแก่น ราชา ออคิด จ.ขอนแก่น
รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และประธานเครือข่ายสถาบันการศึกษาแห่งภูมิภาคด้านบริหารธุรกิจ (Thailand Regional Business Schools Network : TRBS NET) กล่าวว่า ในนามคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชี ครั้งที่ 1 (INCBAA Conference) รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่นักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีสู่จากในประเทศและต่างประเทศที่ให้เกียรติเข้าร่วมในการจัดประชุมวิชาการฯครั้งนี้
“การจัดประชุมวิชาการในวันนี้นั้นเกิดขึ้นจากการจัดตั้ง “เครือข่ายสถาบันการศึกษาแห่งภูมิภาคด้านบริหารธุรกิจ (Thailand Regional Business Schools Network : TRBS NET)” ซึ่งประกอบด้วย 4 สถาบัน คือ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในกิจกรรมหลักของเครือข่าย คือ การจัดการประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติด้านบริหารธุรกิจและการบัญชี เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและวิจัยให้กับศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีในอนาคต ซึ่งมีกำหนดจัดการประชุมวิชาการฯ ทุกๆ 2 ปี โดยเวียนจัดในกลุ่มสมาชิก และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็น เกี่ยวกับการวิจัยด้านบริหารธุรกิจและการบัญชี ระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการ ตลอดจนเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน”
คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี กล่าวต่อไปว่า “สำหรับการประชุมวิชาการในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน” เป็นโอกาสอันดีของภาคธุรกิจของเรา ที่จะนำเอารูปแบบนวัตกรรม แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจ เพราะในปัจจุบัน “นวัตกรรม” นับว่าเป็นยุทธศาสตร์หลักและนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผ่านมา หน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทยมีความตื่นตัว และเริ่มให้ความสําคัญกับการสร้างนวัตกรรมอย่างมาก โดยเฉพาะองค์กรภาคธุรกิจที่มีการปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดการคิดนอกกรอบ และ “นวัตกรรม” ยังเป็นตัวแปรที่สําคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่จําเป็นต้องมีการผลักดันนวัตกรรมเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน อีกทั้งปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันดีว่า“นวัตกรรม” ไม่ได้มีส่วนสําคัญเฉพาะการพัฒนาธุรกิจเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศด้วย ทั้งนี้การสร้างนวัตกรรมในแต่ละธุรกิจย่อมแตกต่างกันไปตามแต่สภาวการณ์และบริบท บางธุรกิจอาจเหมาะกับการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ในขณะที่บางธุรกิจอาจเหมาะกับนวัตกรรมในด้านกระบวนการ หรือในด้านบริการเพื่อสร้างความเป็นเลิศให้กับธุรกิจของตน เหล่านี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเงินทุนบุคลากร หรือเวลา ดังนั้น แต่ละธุรกิจจึงควรหานวัตกรรมที่เหมาะสมกับตนมากที่สุด เพื่อให้เกิดความเป็นที่หนึ่งหรือผู้นําในธุรกิจด้านนั้นๆ”
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า องค์ความรู้ต่างๆที่เกิดขึ้นในงานประชุมฯ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ หรือโมเดลต่างๆ จากการนำเสนอภายในงาน จะถูกนำมาปรับใช้ใช้เป็นแนวทางในการกําหนดนโยบายขับเคลื่อนนวัตกรรมในแวดวงธุรกิจของไทย ให้มีศักยภาพทัดเทียมคู่แข่งนานาประเทศ ซึ่งสิ่งนี้เองจะเป็นกุญแจหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไปสู่ระดับสากลได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน” คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี กล่าวเพิ่มเติม
รองศาสตราจารย์ ดร.สิริวุฒิ บูรณพิร คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการประชุมวิชาการฯ ว่า ทั้งสี่สถาบันที่ร่วมจัดงาน The International and National Conference on Business Administration and Accountancy เลือกใช้ชื่อของงานที่กว้างครอบคลุมทั้งมิติแห่งความเป็นนานาชาติและความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสหสาขาแห่งโลกธุรกิจ เพื่อสะท้อนปรัญชาของความร่วมมือระหว่างสถาบัน เพื่อส่งสารอันสำคัญต่อวงการวิชาการว่าความร่วมมือข้ามสาขาและสถาบันจะสร้างเสริมพลังทางวิชาการและประโยชน์ทางปฏิบัติได้มากขึ้น โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า นามแฝงของ INCBAA หมายถึง เครือข่ายอันเหนียวแน่นของผองเพื่อนแห่งบริหารธุรกิจและการบัญชี ผลสัมฤทธิ์แห่งความร่วมมือนี้จะยังประโยชน์ไปถึงวงการธุรกิจและวงวิชาการของสถาบันต่างๆ ทั้งในไทยและในภูมิภาค คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีความยินดียิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญนี้
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย เศรษฐ์อนวัช คณบดีคณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา มีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในการจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติและระดับชาติด้านบริหารธุรกิจและการบัญชี ประจำปี 2561 (INCBAA 2018) ในครั้งนี้ ซึ่งองค์ความรู้จากงานวิจัยที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งทางวิชาการ ให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ผนวกกับการมุ่งมั่นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ Thailand 4.0 ก่อให้เกิดกระแสแห่งความต้องการงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อนำไปต่อยอดการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านธุรกิจการค้าและการลงทุนที่ปรับเปลี่ยนสู่การเป็น Digital Economy
ท้ายสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านบริหารธุรกิจและการบัญชี 2561 ถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกของเครือข่ายสถาบันการศึกษาแห่งภูมิภาคด้านบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการจาก 4 คณะด้านบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยใน 4 ภูมิภาคหลักของไทย อันประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยบูรพา ความร่วมมือดังกล่าว เกิดจากความตั้งใจของ 4 สถาบัน ที่ต้องการร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการและสร้างสรรค์ผลงานที่ก่อประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ โดยทั้ง 4 สถาบันให้คำมั่นที่จะร่วมมือกันในการวิจัย การจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านวิชาการ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสถาบันที่ร่วมมือในเครือข่ายและต่อสังคมโดยรวม ในนามของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดิฉันขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกสถาบันที่ได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
วรัญญู ดอนเหนือ : ข่าว/ภาพ