KKBS ถ่ายทอดความรู้การท่องเที่ยวเชิงอาหารสู่ชุมชน

คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดย ศูนย์การท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิค จัดโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชน ภายใต้ชื่อโครงการ โครงการนวัตกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism)              เพื่อชุมชนตำบลโพธิ์สัย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด  โครงการเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการต้นทุนและกำหนดราคามาตรฐานสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอาหารของคนในชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรม จัดการความรู้และสื่อความหมายสร้างการเรียนรู้เชิงคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้อาหารพื้นถิ่น เป็นจุดขาย จัดทำมาตรฐานการบริการทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่สร้างสรรค์โดยใช้วัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นเป็นฐาน ให้แก่ภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยวในเขตตำบลโพธิ์สัย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายทวี จงประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดงาน ร้อยตรี สุพจน์ บุญประชุม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์สัย  กล่าวต้อนรับวิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิรชญา ชัยเกษม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิค พร้อมด้วยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในโครงการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิรชญา ชัยเกษม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิค กล่าวว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายการกระตุ้นการท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่เป็นเมืองรอง เพื่อเป็นการกระจายโอกาสเชิงพื้นที่และกระจายรายได้ให้กับท้องถิ่นและชุมชน ในแคมแปญ “Amazing Thailand Go Local”    เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวใน 55 เมืองรอง โดยจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่เมืองรองและชุมชนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน สร้างรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากกว่า 350,000 ล้านบาท โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองจะเน้นการจัดกิจกรรมตามเทศกาลสำคัญ และวันหยุดยาวต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน วิถีถิ่น และสิ่งแวดล้อมจากการสนับสนุนการท่องเที่ยวใน 55 เมืองรอง หนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหนึ่งใน 55 เมืองรองที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยพื้นที่ชุมชนตำบลโพธิ์สัย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหนึ่งในพื้นที่ชุมชนต้นแบบตามนโยบายมหาวิทยาลัยขอนแก่น

“ศูนย์การท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก (CAPTOUR) คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี  มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นถึงคุณค่าและอัตลักษณ์ชุมชนที่สามารถกระตุ้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารอีสานพื้นถิ่น ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงรุกสำหรับเมืองรอง และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาอาหารควบคู่กับการท่องเที่ยวรวมทั้งการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอาหารไทยของภาครัฐ ที่ขยายออกไปสู่ระดับสากลเนื่องจากอาหารพื้นถิ่นมีความเป็นอัตลักษณ์ในรูปแบบของชุมชนและมีการสืบทอดต่อกันมานานนับร้อยปี ทั้งนี้ยังมีความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิตและ วัฒนธรรมของคนในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการนำเสนออัตลักษณ์และวัฒนธรรมตามจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวอันเป็นสิ่งกระตุ้นความสนใจที่จะให้นักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นครั้งแรก เกิดความประทับใจในรสชาติของอาหารและต้องการกลับมาเยือนอีกในครั้งต่อๆไป” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิค กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิค กล่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สำหรับการดำเนินงานถ่ายทอดความรู้ในพื้นที่ชุมชนในครั้งนี้ ศูนย์การท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก ได้ลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้และพัฒนาแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชุมชนตำบลโพธิ์สัย เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น  และเล็งเห็นว่าพื้นที่ชุมชนตำบลโพธิ์สัย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด จะต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถเป็นชุมชนต้นแบบ ด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารพื้นถิ่น (Local Gastronomy Tourism) ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมีเป้าหมายได้แก่ 1) เกิดการจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) ที่ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงอาหารของชุมชนที่มีระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยว  2) เกิดการจัดการความรู้ข้อมูลต้นทุนการท่องเที่ยวเชิงอาหาร 3) เกิดการจัดการความรู้ข้อมูลราคามาตรฐานสำหรับบริการทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร 4) เกิดการจัดการความรู้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหารและลงทุนทางวัฒนธรรมอาหารของชุมชนตำบลโพธิ์สัย ที่ถูกต้องสมบูรณ์   5) . เกิดหลักสูตรฝึกอบรมและพัฒนาการจัดการความรู้และเผยแพร่ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร และทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนตำบลโพธิ์สัย 6) เกิดมาตรฐานทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร 16 มาตรฐาน ตามเกณฑ์นานาชาติ”

สำหรับโครงการนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์สัย และ ร้าน ขนมโชคดี อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด โดยได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมอบรมเพื่อนำความรู้และทักษะเกี่ยวกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวไปปรับใช้กับชุมชนท่องเที่ยวของตนเองอย่างคับคั่ง

 

ศูนย์การท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก : ภาพ
วรัญญู ดอนเหนือ : ข่าว/ภาพ