ในยุคที่การเริ่มต้นธุรกิจไม่จำกัดอยู่แค่คนทำงานหรือเจ้าของทุนใหญ่ นักศึกษารุ่นใหม่จำนวนมากต่างมีความฝันที่อยากจะสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ขายสินค้าที่ตอบโจทย์ตลาด และได้เรียนรู้โลกธุรกิจจากประสบการณ์จริง ไม่ใช่แค่จากตำรา “DE Outbox – Digital Entrepreneur: The Concept to Concrete Showcase 2025” หนึ่งในเวทีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพด้านผู้ประกอบการธุรกิจอย่างเต็มที่ ซึ่งจัดขึ้นโดยสาขาผู้ประกอบการดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ขอนแก่น
งานนี้ไม่ได้เป็นเพียงนิทรรศการแสดงผลงานนักศึกษาเหมือนที่หลายคนเคยเห็น แต่เป็นพื้นที่ที่ให้นักศึกษาได้นำเสนอแนวคิดธุรกิจและนวัตกรรมต่อนักลงทุน หรือผู้เข้าร่วมงานที่กำลังมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจด้านดิจิทัล รวมถึงผู้บริหารองค์กรที่สนใจเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพ เพื่อเปิดโอกาสในการต่อยอดแนวคิด สร้างเครือข่ายทางธุรกิจของนักศึกษา และนอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการจากภาคธุรกิจร่วมให้คำแนะนำเพื่อเสริมศักยภาพด้านการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้การทำธุรกิจครบทุกมิติ โดยกิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วย DE Outbox Pitching ซึ่งเป็นเวทีนำเสนอแนวคิดธุรกิจจากนักศึกษาต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นักลงทุน และผู้ร่วมงาน และกิจกรรม DE Outbox Exhibition พื้นที่โชว์ไอเดียธุรกิจสร้างสรรค์ มีการแสดงผลงานธุรกิจของนักศึกษา ที่รวมสุดยอดนวัตกรรมแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ เครื่องสำอาง และนวัตกรรมอาหารที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่
ในวันนี้ เราจะพาทุกท่านไปร่วมพูดคุยกับประธานหลักสูตรผู้ประกอบการดิจิทัล เพื่อทำความเข้าใจถึงแนวคิดและวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการนี้ พร้อมทั้งเจาะลึกแรงบันดาลใจและเส้นทางการสร้างธุรกิจของนักศึกษาที่ได้นำไอเดียของตนเองมาต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่างเต็มตัว
(ดร.อาภาศรี โสธรวิทย์ ประธานหลักสูตรผู้ประกอบการดิจิทัล (Digital Entrepreneur))
โดยเริ่มต้นจากมุมมอง ดร.อาภาศรี โสธรวิทย์ ประธานหลักสูตรผู้ประกอบการดิจิทัล (Digital Entrepreneur) ซึ่งกล่าวถึงเป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้ว่า ต้องการเปิดโอกาสให้นักศึกษาในหลักสูตรได้แสดงศักยภาพและนำเสนอผลงานที่พัฒนาขึ้น ตั้งแต่กระบวนการคิดค้นไอเดีย การลงมือปฏิบัติจริง รวมถึงการเข้ารับการฝึกอบรมและคำปรึกษาจากคณาจารย์ในหลักสูตร จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่พร้อมจำหน่ายในตลาดได้จริง ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการที่มีความรู้ความสามารถ และสามารถสร้างธุรกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างแท้จริง
(นางสาวญาดา โสภา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาผู้ประกอบการดิจิทัล)
(ผลิตภัณฑ์บาล์มสมุนไพรแบบแท่งภายใต้แบรนด์ “กลิ่นกนก”)
จากการนำเสนอไอเดียในห้องเรียนสู่ผู้ประกอบการธุรกิจตัวจริงอย่าง นางสาวญาดา โสภา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาผู้ประกอบการดิจิทัล ซึ่งร่วมกับเพื่อนในกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์บาล์มสมุนไพรแบบแท่งภายใต้แบรนด์ “กลิ่นกนก” โดยมีแนวคิดในการนำสมุนไพรไทยมาพัฒนาให้มีรูปแบบที่ทันสมัยและตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น ด้วยการออกแบบให้ใช้งานสะดวกและพกพาง่าย ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี สามารถทำยอดขายได้ถึง 30,000 บาท ภายในระยะเวลาเพียง 45 วัน และจากเสียงตอบรับของลูกค้า โดยทางทีมมีแผนที่จะเพิ่มกลิ่นให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการกลิ่นที่แตกต่างกันตามโอกาสและอารมณ์ในแต่ละวัน และนอกจากนี้ ทางทีมยังได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 150,000 บาท จากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Science Park) เพื่อพัฒนาสินค้าให้ดีมีคุณภาพและติดตลาดมากยิ่งขึ้น
(นางสาวชญาดา ศรีลาวงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาผู้ประกอบการดิจิทัล)
(แพลตฟอร์มตู้คีบตุ๊กตาออนไลน์ภายใต้แบรนด์ “Kiipu”)
นอกจากนี้ หนึ่งในทีมที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จนประสบความสำเร็จได้อย่างน่าชื่นชมคือทีมของ นางสาวชญาดา ศรีลาวงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาผู้ประกอบการดิจิทัล ที่ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มตู้คีบตุ๊กตาออนไลน์ภายใต้แบรนด์ “Kiipu (คีปปุ)” ที่สามารถเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา โดยแนวคิดหลักของแบรนด์คือการนำตู้คีบตุ๊กตาแบบออฟไลน์มาสู่โลกออนไลน์ พร้อมสนับสนุนสินค้าลิขสิทธิ์แท้เพื่อให้ผู้เล่นได้รับของรางวัลที่มีคุณภาพ และขณะนี้มีรายได้รวมกว่า 271,360 บาท นอกจากนี้ ทางทีมยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วม Pitching ภายใต้โครงการ Depa Digital Startup Fund จัดโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นการสนับสนุนและผลักดันสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ให้มีโอกาสพัฒนาและขยายธุรกิจได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ทางทีมยังมีแผนต่อยอดธุรกิจด้วยการสร้างอาร์ตทอย (Art Toy) ภายใต้แบรนด์ของตนเอง ซึ่งจะเป็นสินค้าพิเศษที่สามารถเล่นและคีบได้เฉพาะในแพลตฟอร์ม Kiipu เท่านั้น และเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างเอกลักษณ์และเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจในระยะยาว
(นางสาวบุษบา บุษบงก์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาผู้ประกอบการดิจิทัล)
(ภาพแสดงผลลักษณะเท้าประกอบการผลิตแผ่นรองเท้าเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “ย่างก้าว”)
และปิดท้ายกันที่แนวคิดธุรกิจเพื่อสุขภาพกับ นางสาวบุษบา บุษบงก์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาผู้ประกอบการดิจิทัล ซึ่งได้พัฒนาแผ่นรองเท้าเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “ย่างก้าว” ซึ่งมีทั้งแบบสั่งตัดเฉพาะบุคคล (Customized) และแบบสำเร็จรูปที่ผลิตโดยโรงงานพาร์ทเนอร์ โดยใช้เครื่องสแกนเท้าและส่งแบบไปให้ทางโรงงาน และนอกจากนี้ทางทีมเคยได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 50,000 บาท จากคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และในปัจจุบันทางทีมยังได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนในรูปแบบ “Venture Capital (VC)” หรือธุรกิจเงินร่วมลงทุน แต่อย่างไรก็ตามทางทีมยังคงเดินหน้า Pitching ขอทุนสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาและต่อยอดแบรนด์ “ย่างก้าว” ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและเป็นเจ้าของกิจการอย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางในกระบวนการดำเนินธุรกิจนั่นเอง
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษายุคใหม่ในการเป็นผู้ประกอบการดิจิทัล ที่สามารถนำแนวคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ตลาดได้จริง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและภาคปฏิบัติ พร้อมการสนับสนุนจากคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ และแหล่งทุนต่าง ๆ ที่ช่วยต่อยอดไอเดียสู่การทำธุรกิจอย่างได้อย่างแท้จริง โดยกิจกรรมนี้ไม่เพียงเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงผลงานเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีในการสร้างเครือข่าย สร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งสะท้อนแนวทางการพัฒนานักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการที่มีความรู้ ทักษะ และความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจในโลกยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
บรรพต พิลาพันธ์ : บทความ/ภาพ