เมื่อนักบัญชีต้องเตรียมตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ? เรามาฟังความคิดเห็นของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปาริชาต บุตรวงค์ อาจารย์ประจำหลักสูตรบัญชีบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการปรับตัวของนักบัญชีในยุคดิจิทัลที่ท่านให้คำแนะนำที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง มีอะไรบ้างมาดูกัน !
“ในยุคนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีเกิดผลกระทบจาก Digital disrunption มากมายเราจึงต้องปรับตัวเป็นเรื่อง ๆ ไป
1). สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเปิดใจยอมรับก่อนว่าการทำธุรกิจในปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ไม่มากก็น้อย เพื่อช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพและสร้างประโยชน์กับกิจการได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การทำ smart farm ในภาคเกษตร หรือการเชื่อมโยงข้อมูลของระบบขนส่งโลจิสติกส์ต่างๆ การควบคุมต้นทุนหรือคุณภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคนทั่วไปในการใช้ชีวิตประจำวันโดยที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้
2). ทุกอาชีพต้องเริ่มปรับตัวหาความเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด สำหรับวิชาชีพบัญชี ไม่ว่าจะเป็นนักบัญชีหรือผู้สอบบัญชี หรือผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องนั้น ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีในการทำงานมากมาย เช่น ในปัจจุบันการนำเข้าข้อมูลทางบัญชีสามารถทำได้ online-real time มากขึ้น การเชื่อมโยงข้อมูลด้วยระบบ cloud ต่างๆ เราสามารถทำงานที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ (Work from anywhere) การใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Optical Character Recompletion หรือ OCR เป็นระบบสแกนที่ช่วยอ่านเอกสารทางบัญชี และแปลงเป็นข้อความเตรียมสำหรับบันทึกบัญชี เช่น การอ่านสัญญาเช่าโดยใช้ระบบ AI เพื่อจัดทำทะเบียนคุมสัญญาเช่าโดยสามารถกำหนดรูปแบบเนื้อหาของข้อมูลในทะเบียนคุมสัญญาได้อย่างรวดเร็ว หรือ AI ต่าง ๆ ที่ช่วยในการบันทึกบัญชีโดยการนำเข้าข้อมูลอัตโนมัติ หรือระบบ Robotic Process Automation หรือ RPA มาทำงานแทนคนในการบันทึกระทบยอดรายการทางบัญชีเพื่อการปรับปรุงในการจัดทำงบกระทบยอดเงินฝากบัญชีธนาคารได้อัตโนมัติ รวมถึง การใช้ซอฟ์แวร์ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบหรือหาความผิดปกติของรายการทางบัญชี เพื่อช่วยให้ผู้สอบบัญชีสามารถเลือกตัวอย่างหรือประเมินความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อข้อมูลที่อาจจะขัดต่อข้อเท็จจริงในรายงานทางการเงินได้แม่นยำมากขึ้น เป็นต้น และนี่คือ Digital Business Transformation ที่นักบัญชีจะต้องเผชิญ เราต้องมองมันว่าเทคโนโยลีเป็น Devices ที่จะช่วยเราลดระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น เทคโนโลยีต่างๆ เป็นเพียงเครื่องมือที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และอาจจะเหมาะสมในบางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเท่านั้น เราจึงต้องเปิดใจเรียนรู้และทดลองใช้ดู เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำงานและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น สร้างทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล ที่เชื่อมโยงกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจแต่ละประเภท ปัจจุบัน งานด้าน IT Audit มีความต้องการในตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการจัดทำรายงานทางการเงิน และการตรวจสอบงบการเงินของกิจการขนาดใหญ่นั้นมีสภาพแวดล้อมที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อนมากขึ้น IT Auditor จึงต้องมีความรู้และความเข้าใจด้านการบัญชี การสอบบัญชีและการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือการเขียนโปรแกรมคำสั่งเพื่อใช้ในการตรวจสอบ ดังนั้น การเรียนการสอนในอนาคตจึงเกิดการบูรณาการกับศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลมากขึ้น
สิ่งที่อาจารย์อยากจะฝากถึงลูกศิษย์ที่จะเติบโตไปทำงานในวิชาชีพบัญชีหรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องต่อไป ต้องไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล(Data analytics) การสังเกตการณ์เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ(Professional skepticism) รวมถึง การสร้าง Digital mindset ในเชิงบวกให้กับตัวเองมากกว่าความกลัวและหยุดที่จะเรียนรู้ รวมถึงการเรียนรู้ความผิดพลาดหรือการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้เทคโนโลยี
3. สุดท้ายนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีทุกยุคทุกสมัยต้องตระหนักถึง จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี อาทิ เช่น ความโปร่งใส ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ความรู้ความสามารถและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน ความรับผิดชอบต่อผู้รับบริการและการรักษาความลับ ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบุคคลหรือนิติบุคคล ที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปฏิบัติหน้าที่ให้
123 ถ.มิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40002
โทรศัพท์ 0 4320 2401, 0 4320 2342, 0 4320 2344
โทรสาร 0 4320 2402
โทรศัพท์ภายใน (ผ่านโอเปอร์เรเตอร์) 42249, 48000-48004
E-mail : kkbs@kku.ac.th