เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKBS) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท เรียลลี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ SEA Bridge บริษัทที่ปรึกษาและนักพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมระหว่างประเทศ (Cross-Border Venture Builder) เพื่อร่วมกันพัฒนา “Isan Bridge” แพลตฟอร์มเชิงพื้นที่ที่เชื่อมผู้ประกอบการ นักศึกษา และเครือข่ายนวัตกรรมอีสาน เข้าสู่ตลาดภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก โดยการลงนามในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงาน ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SEA Bridge ร่วมเป็นสักขีพยาน
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของภาคอีสานผ่านการร่วมออกแบบหลักสูตร การเชื่อมโยงโครงการฝึกงานและสหกิจศึกษากับการทำงานจริง ตลอดจนการจัดทำงานวิจัยและกรณีศึกษาในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างองค์ความรู้และต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมจากบริบทท้องถิ่น พร้อมกับการจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เช่น “Isan Bridge Hackathon” ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่อีสาน เพื่อจุดประกายแนวคิดใหม่ ส่งเสริมนวัตกรรม และยกระดับทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่ระดับสากล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะฯ ที่มุ่งสร้างนักศึกษาซึ่งเป็นทั้ง “นักคิด” และ “นักลงมือ” เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของอีสานที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมสู่ศูนย์กลางของนวัตกรรมและผู้ประกอบการรุ่นใหม่
“เป้าหมายของเราคือการพัฒนานักศึกษาที่ไม่เพียงแค่เรียนรู้ แต่สามารถลงมือสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาในโลกจริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ SEA Bridge ที่ต้องการเป็น Growth Partner for Good Business ความร่วมมือนี้จึงไม่ใช่แค่ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและเอกชน แต่เป็นต้นแบบของการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง” คณบดีกล่าว
ด้าน นายธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SEA Bridge กล่าวว่า การทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นตลอดสองปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นศักยภาพของเยาวชนอีสานที่พร้อมก้าวสู่เวทีระดับสากล โดยเฉพาะนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ที่มีความคิดสร้างสรรค์และกล้าลงมือทำจริง ความร่วมมือในครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในระดับห้องเรียน แต่เป็นการวางรากฐานของการเติบโตเชิงระบบ เราต้องการเห็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากอีสานสามารถใช้ทุนท้องถิ่นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ชุมชน หรือทรัพยากร มาต่อยอดเชิงธุรกิจบนเวทีโลกอย่างแท้จริง
“เราภูมิใจที่การทำงานร่วมกันกับทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาตลอด 2 ปี โดยเฉพาะ KKBS ทำให้ ม.ข. กลายเป็นมหาวิทยาลัยพันธมิตรที่ส่งนักศึกษาเข้าร่วม SEA Bridge NextGen มากที่สุดในปีนี้ และการได้ร่วมจัด Isan Bridge Hackathon ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ดี” นายธนกฤษณ์กล่าว
ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าโครงการ Isan Bridge ตั้งเป้าที่จะพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากภาคอีสาน พร้อมจัดกิจกรรม “Isan Bridge Hackathon” อย่างต่อเนื่อง ทั้งในจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเฟ้นหาผลงานที่โดดเด่นและนำไปต่อยอดในเวทีระดับภูมิภาค เช่น Isan Creative Festival และ Isan Creativity and Innovation Summit นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาหลักสูตรร่วมกับคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยพันธมิตรในโครงการ SEA Bridge NextGen พร้อมผลักดันการวิจัยและจัดทำกรณีศึกษาด้านการพัฒนาอีสานในมิติต่างๆ ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการฝึกงานกับบริษัทจริง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “Isan Bridge” ให้เป็นแพลตฟอร์มศูนย์กลางของภูมิภาคอีสาน ที่เกิดจากความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งจากภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ เพื่อเชื่อมโยง “ทุนและโอกาสในท้องถิ่น” เข้ากับ “ตลาดและเครือข่ายระดับโลก” อย่างแท้จริง