“บัญชีจิตอาสา” KKBS ยกขบวนออกค่าย ถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน

 

      “ค่ายอาสา” คำที่หลายๆคนที่ได้ยินกันบ่อยครั้งในรั้วมหาวิทยาลัย จนคล้ายกับว่าเป็นวิชาเลือกที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องจัดให้กับนักศึกษาที่สนใจจะลงหน่วยกิตเรียนวิชา และยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ละคนที่สนใจเข้าร่วมจะต้องมีความสมัครใจ และพร้อมทำอะไรบางอย่างเพื่อก่อประโยชน์ให้แก่สังคม มีคาดหวังว่าตัวเองจะได้ให้หรือได้รับอะไรกลับคืนมาจากการเข้าร่วมค่ายอาสานั้น

           สำหรับในรั้วมหาวิทยาลัย การออกค่ายอาสานับเป็นกิจกรรมที่สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์การใช้ชีวิตนักศึกษาที่น่ายกย่อง เพราะนอกจากตัวนักศึกษาจะได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมแล้ว ยังจะเป็นเวทีที่ช่วยสร้างและกลั่นกรองบุคคล ให้มีหัวใจอาสารับใช้เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม กล้าคิดกล้าทำ กล้าแสดงออก เป็นแบบอย่างต่อสังคม พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายภายใต้อุดมการณ์หนึ่งเดียวกัน นอกจากนั้นแล้วยังได้สัมผัสกับวิถีชีวิตแบบชนบท  โดยล่าสุด นักศึกษาจากสาขาวิชาบัญชี คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกเดินทางไปยังพื้นที่ ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิถีชุมชนและนำความรู้ทางด้านบัญชี ไปพัฒนาการจัดทำบัญชีและการบริหารการเงินให้กับกลุ่มอาชีพชุมชนถึง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแปรรูปกล้วย กลุ่มอาชีพเลี้ยงไก่ กลุ่มอาชีพปลูกผัก ภายใต้ชื่อโครงการ “บัญชีจิตอาสา” โดยได้รับการสนับสนุนจาก คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ร่วมกับ มูลนิธิปิดทองหลังพระ และมูลนิธิรากแก้ว

          นางสาววริศรา ปานทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการบัญชี  กล่าวถึงกิจกรรมดังกล่าวว่า การที่ได้ไปร่วมค่ายบัญชีจิตอาสาในครั้งนี้เกินกว่าความคาดหวังมาก เนื่องจากก่อนที่จะไปร่วมกิจกรรมค่ายอาสาคิดว่าน่าจะเป็นค่ายในลักษณะของด้านวิชาการ แต่เมื่อได้เข้าร่วมก็ลบความคิดนั้นไป โดยกิจกรรมในค่ายฯ ที่ได้ทำส่วนใหญ่เป็นการให้ฝึกใช้ชีวิตกับผู้อื่น และการนำความรู้ทางด้านการวิชาบัญชีขั้นต้น หลักการเบื้องต้นในการทำบัญชี เพื่อนำมาออกแบบรายรับรายจ่ายและอธิบายการลงบันทึกต่างๆให้กลุ่มไก่กลุ่มอาชีพชุมชนถึง 3 กลุ่มอาชีพ นอกจากนั้นทุกคนในค่ายยังได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน เช่น การเพาะเห็ดฟาง การทำกิจกรรมส่งเสริมการออมให้กับชาวบ้านและนักเรียนในเขตพื้นที่ ต.ทุ่งโป่ง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่และสนุกมาก

         นางสาวอารยา   ชัชวาล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการบัญชี  ในฐานะนักศึกษารุ่นพี่ในค่าย เปิดเผยความรู้สึกของการร่วมกิจกรรมว่า การไปค่ายบัญชีจิตอาสาในครั้งนี้เราไม่ได้เพียงแค่จะได้ช่วยชาวบ้าน และช่วยพี่ๆมูลนิธิปิดทองคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาอาชีพชุมชน ซึ่งพวกเราก็ได้นำความสามารถของตนเองมาช่วยชาวบ้านแกไขปัญหากันอย่างเต็มที่ และเรายังได้ทั้งความรัก ความผูกพัน และมิตรภาพจากสมาชิกในค่ายทุกคนที่มีให้กันกลับมาอีกด้วย

         “สำหรับการออกค่ายบัญชีจิตอาสาในครั้งนี้ พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มอาชีพในชุมชน คือ ชาวบ้านน้อยคนที่จะบันทึกรายรับ-รายจ่าย และบันทึกรายรับ-รายจ่ายไม่ถูกต้อง เนื่องจากมาจากการประมาณ เพราะไม่ได้บันทึกทันทีที่มีรายรับ-รายจ่ายเกิดขึ้น เราจึงได้นำความรู้จากวิชาที่เรียน มาช่วยปรับเปลี่ยนสมุดรายรับ-รายจ่ายของชาวบ้านให้บันทึกได้ง่ายขึ้น และบอกถึงเหตุผลที่ต้องบันทึก รวมถึงชักชวน โน้มน้าวให้ชาวบ้านอยากที่จะบันทึกรายรับ-รายจ่ายทุกครั้ง เพื่อที่มูลนิธิปิดทองหลังพระจะนำข้อมูลที่ได้ไปช่วยชาวบ้านในการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ต่อไป”

        นอกจากนี้ อารยา ยังกล่าวเสริมว่า “การออกค่ายอาสาในพื้นที่ชนบทไม่ได้มีความสะดวกสบายแต่อย่างใด เพราะเราต้องไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ไปอยู่บ้านกับชาวบ้าน และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำกิจกรรม จากวันที่ 1 เป็นวันที่ 2 และยิ่งเฉพาะวันที่ 3 วันที่จะต้องเดินทางกลับ เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆอย่าง ทุกคนในค่ายสนิทกันมากขึ้น กลายเป็นความผูกพันระหว่างกันและกัน ความผูกพันระหว่างพ่อฮักแม่ฮัก(ชาวบ้าน) เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นสำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน” 


          ด้าน นายภูฤทธิ์ แย้มศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 1  สาขาวิชาการบัญชี น้องใหม่ที่เพิ่งเคยร่วมค่ายอาสา บอกว่า ค่ายนี้เป็นค่ายอาสาค่ายแรก ที่รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก ได้ร่วมทำงานกับผู้คนที่มีอุดมการณ์เพื่อสังคมเช่นเดียวกัน ได้มิตรภาพที่ดีจากการทำงาน ได้รับประสบการณ์และแนวคิดใหม่ๆ และได้สร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมให้กับตนเองเพิ่มมากขึ้น

       “สำหรับความประทับใจในค่ายบัญชีจิตอาในครั้งนี้ของผมมีเยอะมากครับแต่จะขอยกมาแค่สามอย่างหลักๆ นะครับ อย่างแรกเลย คือ ผมประทับใจมากๆ เวลาที่เห็นพี่น้องนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำงานร่วมกันช่วยเหลือกันมันเป็นภาพที่น่าจดจำมากๆ ครับ ไม่มีใครเกี่ยงกันทำงานทุกคนต่างเต็มใจที่จะทำในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย อย่างที่สองคือ คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นเจ้าบ้านให้เราไปพักอาศัยด้วยท่านปฏิบัติกับเราเหมือนเราเป็นลูกหลานแท้ๆ ถามไถ่ทุกข์สุข ท่านทำให้รู้สึกเหมือนได้กลับบ้านไปเติมพลังเพื่อมาสู้กับงานในวันต่อไป อันนี้เป็นสิ่งที่ผมประทับใจมากๆ เลยครับ และสิ่งสุดท้ายที่ผมประทับใจมากๆ เช่นกันก็คือตอนที่พวกเราได้นำเสนอแนวทางปรับปรุงต่างๆ ที่พวกเราได้จัดทำขึ้น ทีแรกผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มชาวบ้านมากนัก แต่สิ่งที่พ่อๆ แม่ๆ ที่มานั่งฟังแสดงออกมาคือพวกท่านตั้งใจฟังอย่างมากเก็บทุกรายละเอียดที่พวกเรานำเสนอและยอมรับฟังในแนวทางแก้ปัญหาที่พวกเราได้แนะนำ ความรู้สึกผมในตอนนั้นคือผมปลื้มใจและดีใจมากๆ ผมจะไม่มีวันลืมความรู้สึกในตอนนั้นเลยครับ” 

          “ท้ายสุดนี้ ผมอยากจะเชิญชวนพี่น้องนิสิตนักศึกษาทุกๆสถาบัน เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนาช่วยเหลือสังคมในส่วนที่ยังขาดแคลนหรือที่ยังต้องการความช่วยเหลือไม่ว่าจะทางด้านใดก็ตาม ด้วยกำลังแรงกาย กำลังความรู้ความสามารถ  ผ่านค่ายอาสาในรูปแบบต่างๆ เช่น ค่ายอาสาการสร้างและปรับปรุงสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ขาดแคลน กิจกรรมค่ายอาสาปลูกป่าและรักษาสิ่งแวดล้อม กิจกรรมค่ายอาสาให้ความรู้แก่ชุมชน เป็นต้น  ซึ่งในการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสาเหล่านี้ จะเป็นส่วนในฝึกเอาความรู้ที่เราได้จากห้องเรียนนำมาปฏิบัติจริง และจะกลายเป็นทักษะความสามารถที่ติดตัวของเราไปตลอดจนสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต ” ภูฤทธิ์กล่าวทิ้งท้าย

  

วรัญญู  ดอนเหนือ:ข่าว

อนุรักษ์ ทองสุโขวงศ์:ภาพ